0

ถูกแชร์ทั้งหมด

          ปิโตรเคมีคืออะไร??? หลายคนทราบ หลายคนไม่ทราบ แต่คิดว่าต้องมาจากปิโตรเลียมแน่ ๆ เลย

          ใช่แล้วครับ...ปิโตรเคมีเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดิบบางส่วน มาแปรสภาพในกระบวนการทางเคมี เพื่อสร้างผลผลิตใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการผลิตวัสดุแทนวัสดุธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป ดังนั้น ผลิตภัณฑ์พลาสติก ใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ จึงเป็นวัสดุที่สำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถใช้ทดแทนไม้ โลหะและวัสดุธรรมชาติต่าง ๆ ได้เกือบทุกชนิด และอยู่รอบตัวเราตลอดเวลาเช่น เสื้อผ้า ที่นอน หมอน ผ้าห่ม พัดลม ทีวี เครื่องซักผ้า แปรงสีฟัน ยาสีฟันและแว่นตา นาฬิกา สมาร์ทโฟน โดรน รถยนต์ เป็นต้น

          เป็นการนำผลิตภัณฑ์จากก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ ก๊าซอีเทน(C2H6) โพรเพน(C3H8) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ก๊าซโซลีนธรรมชาติ(C5+) และคอนเดนเสท หรือผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบ ได้แก่ แนฟทา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) มาแปรสภาพให้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งตามโครงสร้างทางเคมีแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

  • กลุ่มโอเลฟินส์ เป็นสารที่มีลักษณะโครงสร้างเป็นเส้นที่ไม่อิ่มตัว ได้แก่ เอทิลีน โพรพิลีน และมิกซ์ซีโฟร์
  • กลุ่มอะโรเมติกส์ เป็นสารที่มีโครงสร้างเป็นวงแหวนของคาร์บอนตั้งแต่ 6-8 อะตอม ได้แก่ เบนซีน โทลูอีน และไซลีน

ซึ่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นเหล่านี้จะอยู่ในรูปของสารโมเลกุลเดี่ยวขนาดเล็กที่เรียกว่า “มอนอเมอร์” เพื่อส่งให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางต่อไป

กระบวนการผลิตปิโตรเคมีขั้นต้นมีหลายรูปแบบมาลองดูกันนะครับ

  • กระบวนการแตกตัวโมเลกุลด้วยความร้อนและไอนน้ำ ซึ่งเป็นกระบวนการหลักในการผลิตสารกลุ่มโอเลฟินส์ โดยเฉพาะ เอทิลีน ซึ่งเป็นสารปิโตรเคมีขั้นต้นที่ถูกนำไปใช้มากที่สุด
  • กระบวนการแตกตัวโมเลกุลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา จะทำให้ได้สารโพรพิลีน ที่อยู่ในกลุ่มโอเลฟินส์ โดยโรงกลั่นน้ำมันก็นิยมใช้กระบวนการนี้ในการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หนัก เช่น เปลี่ยนน้ำมันเตา ให้เป็นน้ำมันเบา ซึ่งมีราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน
  • กระบวนการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุล เราก็จะได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในกลุ่มอะโรเมติกส์ ซึ่งมีวิธีการคล้ายกับกระบวนการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำมันในโรงกลั่นน้ำมันนั่นเอง

          เป็นการนำผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นมาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการทางเคมี ซึ่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางนี้ยังไม่สามารถนำไปใช้งานได้โดยตรง ต้องส่งต่อไปเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลายต่อไป

          เป็นการนำผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น หรือขั้นกลางมาแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ เม็ดพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์ เคมีภัณฑ์ ตัวทำละลาย สารเคลือบผิว ซึ่งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นจะแตกต่างกันตามการเรียงตัวกันของ มอนอเมอร์ ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ใหญ่ขึ้นเรียกว่า พอลิเมอร์ ซึ่งเมื่อนำพอลิเมอร์มาเรียงต่อกันให้มีความแตกต่างทั้งความยาวและรูปร่าง เราก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันนั่นเอง

          ตัวอย่างเช่น เมื่อเรานำมอนอเมอร์ของสารเอทิลีน มาเชื่อมต่อกันเป็นสาย ก็จะได้เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีน (PE) ที่สามารถนำไปผลิตเป็น ถุงพลาสติกแบบใส ท่อน้ำดื่ม กล่องพลาสติก ขวดพลาสติก เป็นต้น

          หรือถ้าเรานำมอนอเมอร์ของสารโพรพิลีน มาเชื่อมต่อกันก็จะได้เม็ดพลาสติก พอลิโพรพิลีน (PP) ที่นำไปแปรรูปเป็น ถุงพลาสติกแบบขุ่น กล่องลังพลาสติก ฝาแบตเตอรี่ หรือกันชนรถยนต์ เป็นต้น

01 กลุ่มพลาสติก    เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ แผงไฟหน้าและหลัง กันชน รถไฟ ตัวเรือ ถังน้ำ ถังน้ำมัน สายไฟและฉนวน สายเคเบิ้ลใต้ทะเล โทรศัพท์ ท่อน้ำ แผ่นบุฝาผนัง ฉนวนกันความร้อน ถุงพลาสติก หูฟัง เครื่องวัดความดัน อวัยวะเทียม คอนแทคเลนส์ ขวดนมเด็ก ขวดลัง ตะกร้า แก้วน้ำ กล่อง และอื่น ๆ

02 กลุ่มเส้นใยสังเคราะห์   เช่น เสื้อผ้า เครื่องนอน ถุงเท้า หมวกไหมพรม ม่านพลาสติก พรมยาง พลาสติกปูโต๊ะ เชือก ผ้าใบ เส้นใย แห อวน เอ็นตกปลา

03 กลุ่มยางสังเคราะห์    เช่น ยางรถยนต์ สายรัด ท่อยาง ถุงมือยาง อุปกรณ์กีฬา เช่น พื้นรองเท้า ลูกฟุตบอล ลูกวอลเลย์บอล

04 กลุ่มสี   เช่น สีเคลือบผิว รถไฟ รถยนต์ เรือยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้างเช่นสีทาอาคาร

05 กลุ่มสารซักฟอกและสารเคลือบผิว   เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างภาชนะ แชมพู เส้นใย เครื่องสำอาง กระดาษ น้ำยาขัดผิว โลหะ

06 กลุ่มอื่น ๆ    เช่น ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ กาว ตัวทำละลาย เมื่อดูรอบ ๆ ตัวเราจะเห็นว่าสิ่งของที่ทำมาจากปิโตรเคมีนั้นมีมากมาย กล่าวได้ว่า ปิโตรเคมีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราแล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้ ตั้งแต่ตื่นนอน จนเข้านอน ทำให้เรามีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราทุกคนต้องใช้อย่างเข้าใจและใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำไปกำจัดที่ถูกต้องเพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว

"ทุกคนควรลงมือปฏิบัติตั้งแต่วันนี้ เพื่อช่วยโลกของเรา"

พลังงานทั่วไป/กำเนิดปิโตรเลียม

      พลังงาน (Energy) เป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสัตว์ หากปราศจากพลังงานต่าง ๆ แล้วเราคงไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ พลังงานที่มนุษย์นำมาใช้ในยุคแรก ๆ ได้แก่ พลังงานจากแรงงานมนุษย์และสัตว์ ต่อมามนุษย์ได้การพัฒนานำเอาพลังงานที่ได้จากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้ไม้ ฟืน หรือ ถ่านหิน ต่อมามนุษย์มีวิวัฒนาการทางด้านวิชาการที่ดีขึ้น สามารถค้นคว้าและนำเอาพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ที่ดีกว่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากมาย เช่น พลังงานที่ได้จากก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงานจากปิโตรเลียม เพราะให้ประโยชน์และสะดวกต่อการใช้งานมาก จึงเป็นพลังงานที่นำมาใช้มากที่สุดในปัจจุบัน

ก๊าซธรรมชาติ พลังงานใส เพื่อโลกสวย

      ก๊าซธรรมชาติ เป็นพลังงานปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง ที่มีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์เป็นเวลานานหลายร้อยล้านปี สะสมตัวอยู่ใต้ดินภายใต้ความร้อนและแรงกดดันตามธรรมชาติ

น้ำมันดิบ

      น้ำมันดิบเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน แต่ก็ยังมีสารประกอบอื่น ๆ ปะปนอยู่อีกหลายชนิด เช่น กำมะถัน ไนโตรเจน ออกซิเจน ทำให้น้ำมันดิบที่ขุดพบมีสีและความหนืดที่แตกต่างกัน

พลังงานหมุนเวียน

      กว่าที่ปิโตรเลียมจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เวลาหลายร้อยล้านปี เมื่อจำนวนคนบนโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นเช่นกัน จึงเป็นไปได้ที่พลังงานจากฟอสซิลเหล่านี้จะหมดลงในวันหนึ่งข้างหน้า ดังนั้นการเร่งค้นคว้าหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ มาใช้ทดแทนจึงเป็นทางออกของพลังงานที่จำเป็นอย่างยิ่ง