0

ถูกแชร์ทั้งหมด

          พลังงานที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ส่วนมากแล้วได้มาจากน้ำมันดิบซึ่งเป็นปิโตรเลียมอีกชนิดหนึ่งที่ต้องใช้เวลาหลายร้อยล้านปีกว่าจะเกิดเป็นน้ำมันให้เราได้ใช้กันทุกวันนี้

          น้ำมันดิบเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน แต่ก็ยังมีสารประกอบอื่น ๆ ปะปนอยู่อีกหลายชนิด เช่น กำมะถัน ไนโตรเจน ออกซิเจน ทำให้น้ำมันดิบที่ขุดพบมีสีและความหนืดที่แตกต่างกัน

ในประเทศไทยนั้นถึงเราจะขุดพบน้ำมันดิบทั้ง

  • บนบก    เช่น แหล่งน้ำมันฝาง จ.เชียงใหม่ แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร, แหล่งน้ำมันอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
  • ในทะเลอ่าวไทย   เช่น แหล่งน้ำมันจัสมิน แหล่งน้ำมันบัวหลวง แหล่งน้ำมันนางนวล แหล่งน้ำมันเบญจมาศ แหล่งน้ำมันทานตะวัน เป็นต้น

แต่ปริมาณที่ผลิตได้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ส่วนใหญ่น้ำมันดิบที่เราใช้จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่

  • ตะวันออกลาง เช่น แหล่งน้ำมันซาอุดิอาระเบีย น้ำมันดิบโอมาน น้ำมันเมอร์บาน จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น น้ำมันดิบทาปีส จากประเทศมาเลเซีย น้ำมันดิบซีเรียไลท์ ประเทศบรูไน

          เมื่อเราได้น้ำมันดิบมาแล้ว ยังไม่สามารถใช้งานได้ทันทีจะต้องนำน้ำมันดิบที่ได้ ไปผ่านกระบวนการแยกสารประกอบต่าง ๆ ออกมา โดยใช้จุดเดือดที่แตกต่างกัน เรียกว่า “การกลั่นลำดับส่วน”

          ขั้นตอนแรกของการกลั่นน้ำมันจะต้องแยกน้ำและเกลือแร่ออกจากน้ำมันดิบ แล้วนำไปผ่านความร้อน น้ำมันส่วนหนึ่งก็จะระเหยกลายเป็นไอเข้าสู่หอกลั่น เมื่อกระทบอุณหภูมิแต่ละชั้นก็จะกลั่นตัวเป็นของเหลวตามช่วงจุดเดือดของผลิตภัณฑ์น้ำมันแต่ละชนิด ได้อะไรมาบ้างมาลองดูกัน

01 ส่วนแรก   จะเป็นก๊าซลอยออกสู่บนสุดของหอกลั่น ก็คือ ก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่เราใช้ในครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรม

02 ส่วนที่สอง   คือส่วนกลั่น ได้แก่

  • แนฟทา ใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ใช้ทำสารเคมีและตัวทำละลาย
  • น้ำมันเบนซิน ใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ โดยการปรับปรุงคุณภาพให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์แต่ละประเภท
  • น้ำมันก๊าด ใช้เติมตะเกียงไฟ ใช้เป็น ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้เป็นตัวทำละลายในน้ำยาทำความสะอาด สารกำจัดแมลงต่าง ๆ ถ้านำมาปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นตามมาตรฐานสากลก็ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นได้ (Jet A-1)
  • น้ำมันดีเซล ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถบรรทุก เรือประมง

03 ส่วนสุดท้าย   คือ กากกลั่น ได้แก่

  • น้ำมันเตา ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ถ้านำไปปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นก็จะได้เป็นน้ำมันหล่อลื่น ช่วยลดการเสียดสีของชิ้นส่วนในเครื่องยนต์
  • ยางมะตอย ใช้สำหรับทำพื้นถนน

          เมื่อเราได้ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบแล้ว คราวนี้เราจะขนส่งไปให้ถึงผู้ใช้งานก็จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะผลิตภัณฑ์ที่ได้บางชนิดติดไฟง่าย บางชนิดระเหยเร็ว จึงต้องใช้วิธีที่เหมาะสมและปลอดภัย

  • การขนส่งทางระบบท่อ เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด ขนส่งได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
  • การขนส่งทางเรือ สามารถขนส่งได้คราวละมาก ๆ ใช้ขนส่งลำเลียงในระยะทางไกล ๆ ได้ดี เช่น การขนส่งข้ามทวีป
  • การขนส่งทางรถไฟ สามารถขนส่งได้คราวละมาก ๆ ใช้ขนส่งลำเลียงในระยะทางไกล ๆ เช่น การขนส่งข้ามจังหวัด ขนส่งระหว่างประเทศ
  • การขนส่งทางรถบรรทุก เป็นการขนส่งไปถึงผู้ใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก

          "น้ำมันเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่า จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตประจำวัน เป็นพลังงานสำคัญต่อมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ทุกวันนี้ไม่มีใครแน่ใจได้ว่าน้ำมันบนโลกนี้มีปริมาณเหลืออยู่เท่าใด เราจึงจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำมันอย่างรู้คุณค่า และมองหาแหล่งพลังงานทดแทนอื่น ๆ มาใช้เพื่ออนาคตต่อไป"

พลังงานหมุนเวียน

      กว่าที่ปิโตรเลียมจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เวลาหลายร้อยล้านปี เมื่อจำนวนคนบนโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นเช่นกัน จึงเป็นไปได้ที่พลังงานจากฟอสซิลเหล่านี้จะหมดลงในวันหนึ่งข้างหน้า ดังนั้นการเร่งค้นคว้าหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ มาใช้ทดแทนจึงเป็นทางออกของพลังงานที่จำเป็นอย่างยิ่ง