0

ถูกแชร์ทั้งหมด

          ก๊าซธรรมชาติ เป็นพลังงานปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง ที่มีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์เป็นเวลานานหลายร้อยล้านปี สะสมตัวอยู่ใต้ดินภายใต้ความร้อนและแรงกดดันตามธรรมชาติ ทำให้ซากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นแปรสภาพเป็นก๊าซธรรมชาติ โดยทั่วไปมีสถานะเป็น ก๊าซ ติดไฟได้ ประกอบด้วยก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลักซึ่งมีปริมาณมากถึงร้อยละ 70 ขึ้นไป นอกจากนั้นยังประกอบด้วยก๊าซอื่น ๆ อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ก๊าซไนโตรเจน และ น้ำ เป็นต้น

(หมายเหตุ : ก๊าซ มีความหมายเดียวกับ แก๊ส หมายถึง สถานะแก๊ส )

จากคุณสมบัติเฉพาะตัวของก๊าซธรรมชาติเราจะเห็นว่าก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่

01 สะอาด

          เนื่องจาก ก๊าซธรรมชาติ มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งเป็นสารที่ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่ที่เราได้กลิ่นเนื่องจากเราเติมกลิ่นเข้าไป เพื่อความปลอดภัย หากเกิดการรั่วไหลขณะใช้งานจะได้ทราบ

02 ปลอดภัย

  • มีสถานะเป็นก๊าซ แต่ปัจจุบันสามารถแปรสภาพก๊าซธรรมชาติให้อยู่ในรูปของเหลวได้ ด้วยการลดอุณหภูมิลงที่ -160 องศาเซลเซียส โดยปริมาตรจะลดลง 600 เท่า ทำให้สามารถขนส่งทางเรือได้
  • เบากว่าอากาศ มีค่าความถ่วงจำเพาะ 0.6-0.8 เท่าของอากาศ ดังนั้นเมื่อรั่วไหลจะลอยขึ้นที่สูงและฟุ้งกระจายไปในอากาศอย่างรวดเร็ว
  • โอกาสติดไฟยาก เพราะมีช่วงของการติดไฟที่ร้อยละ 5-15 ของปริมาตรในอากาศและอุณหภูมิที่สามารถติดไฟได้เอง 537-540 องศาเซลเซียส

03 เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          เป็นเชื้อเพลิงสะอาด มีการเผ้าไหม้สมบูรณ์ ปราศจากเขม่า เมื่อเผาไหม้จะก่อให้เกิดมลภาวะน้อยกว่าเชื้อเพลิงปิโตรเลียมอื่นจึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

          ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติใช้งานได้เอง จากแหล่งผลิตต่าง ๆ ภายในประเทศ ซึ่งมีปริมาณมากถึงร้อยละ 80 แต่ยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศ เพื่อความมั่นคงและมีพลังงานใช้อย่างพอเพียง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศคิดร้อยละ 20 โดยมีแหล่งต่าง ๆ ดังนี้

   ทะเลอ่าวไทย ได้แก่ แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ เป็นต้น

   บนบก ได้แก่ แหล่งภูฮ่อม อ.หนองแสง จ.อุดรธานี และ แหล่งนํ้าพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

   พื้นที่ทับซ้อน ได้แก่ แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA)

   นำเข้าจากสหภาพเมียนมาร์ ได้แก่ แหล่งยาตานา แหล่งเยตากุน และ แหล่งซอติก้า

   นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ ได้แก่ ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย เป็นต้น

ก๊าซธรรมชาติมีสถานะเป็นก๊าซ ได้มาจากแหล่งผลิตต่าง ๆ จึงต้องเลือกวิธีการขนส่งให้เหมาะสมเพื่อความสะดวก ปลอดภัยและมีความคุ้มค่ามากที่สุด ดังนี้

  • การขนส่งทางท่อ เป็นวิธีที่ ปลอดภัย สะดวก และประหยัด กว่าวิธีอื่น
    • มีความสะดวกสามารถขนส่งได้อย่างต่อเนื่องเข้าสู่โรงงานได้ทันที
    • มีความปลอดภัย เพราะท่อส่งก๊าซธรรมชาติทำมาจากเหล็กกล้า มีความแข็งแรงมากกว่าเหล็กธรรมดา แล้วนำท่อมาเชื่อมต่อกันเป็นแนวยาวฝังไว้ใต้ดิน ในระดับความลึกมากกว่า 1.5 เมตร มีระบบควบคุมอัตโนมัติ (SCADA) ดูแลควบคุมการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง มีการตรวจสอบท่อเป็นประจำเพื่อความปลอดภัย ตามมาตรฐานสากล และยังมีการเติมกลิ่น Ethyl Mercaptan (เอทิลเมอร์แคปแท๊น) เข้าไปในท่อขณะส่งก๊าซฯด้วย เพื่อความปลอดภัยหากเกิดการรั่วไหลของก๊าซธรรมชาติ จะได้ทราบ
    • ประหยัด มีความแข็งแรง ทนทาน มีระบบป้องการการผุกร่อน ซึ่งออกแบบให้มีอายุการใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 40 ปี
  • การขนส่งทางเรือ เป็นการขนส่ง ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ได้ครั้งละปริมาณมาก ๆ ใช้สำหรับการส่งจากแหล่งผลิตที่มีระยะทางไกล ๆ เช่นจากตะวันออกกลาง ยุโรป

          ก๊าซธรรมชาติมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นประโยชน์มากมาย ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงได้เลย แต่เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับก๊าซธรรมชาติจึงต้องนำไปผ่านกระบวนการแยกในโรงแยกก๊าซธรรมชาติก่อน ปัจจุบันโรงแยกก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ มาบตาพุต จ.ระยอง 5 หน่วย และ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช 1 หน่วย

เมื่อก๊าซธรรมชาติถูกส่งเข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติจะได้สารประกอบไฮโดรคาร์บอนต่าง ๆ ดังนี้

  • ก๊าซมีเทน (CH4)   ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ (NGV / CNG)
  • ก๊าซอีเทน (C2H6)   ใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทีลีน (PE) เส้นใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์
  • ก๊าซโพรเพน (C3H8)   ใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีน (PP) เส้นใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์
  • ก๊าซบิวเทน (C4H10)   ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเติมแต่ง เพื่อเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมัน ยางสังเคราะห์ และ พลาสติกเอบีเอส
  • เมื่อนำก๊าซโพรเพน (C3H8)   มาผสมกับ ก๊าซบิวเทน (C4H10) จะได้เป็นก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่เราใช้กันอยู่ในครัวเรือน ใช้ในการเชื่อมโลหะ
  • ก๊าซโซลีนธรรมชาติ (C5+)   ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมตัวทำละลาย นำไปผสมเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป
  • ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)   ไม่ได้เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน แต่ก็เป็นผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ นำไปใช้ในอุตสาหกรรมถนอมอาหาร เรียกว่าน้ำแข็งแห้ง นำไปเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำฝนเทียม ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม ใช้สร้างควันในอุตสาหกรรมบันเทิง อาทิ การแสดงคอนเสิร์ต

"เมื่อรู้ว่าก๊าซธรรมชาติมีประโยชน์มากขนาดนี้แล้ว เราทุกคนควรช่วยกันประหยัดพลังงาน และใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างให้คุ้มค่านะครับ"

น้ำมันดิบ

      น้ำมันดิบเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน แต่ก็ยังมีสารประกอบอื่น ๆ ปะปนอยู่อีกหลายชนิด เช่น กำมะถัน ไนโตรเจน ออกซิเจน ทำให้น้ำมันดิบที่ขุดพบมีสี และ ความหนืดที่แตกต่างกัน